แต่งรถยนต์นั้นเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัว แต่ไม่ว่าคุณจะ แต่งรถยนต์ ขนาดไหนก็ตาม ก็จำเป็นต้องอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นอาจเสียทั้งเงินค่าปรับและเสียเวลาขึ้นโรงพักเอาง่ายๆ
วันนี้ลองมาดูกันว่า มีวิธี แต่งรถยนต์ อย่างไรบ้าง ให้จัดเต็มกันได้อย่างไม่ต้องกลัวว่าจะผิดกฎหมายอีกต่อไปหลังจากที่เมื่อวานแนะนำวิธีการ แต่งรถ เบื้องต้นกันไปแล้ว
-
ไม่โหลดเตี้ย
กฎหมายเกี่ยวกับการโหลดรถยนต์ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ระบุว่ารถจะโหลดเตี้ยเท่าไหร่ก็ได้ แต่เมื่อวัดจากกึ่งกลางไฟหน้า กับระดับพื้นถนนจะต้องมีระยะไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร หากต่ำกว่านั้นถือว่าผิดกฎหมาย และถ้าไฟหน้าสูง แต่รถยนต์ใส่สปอยเลอร์จนลากพื้น เจ้าหน้าที่ตำรวจและนายช่างตรวจสภาพกรมการขนส่งทางบกผู้วินิจฉัยผล ตรอ. จะเป็นผู้พิจารณาว่ามีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือสร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่นหรือไม่ ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายเช่นกัน
-
ไม่โหลดสูง
พระราชบัญญัติรถยนต์ระบุว่า รถออฟโรดที่จำเป็นต้องสูงกว่ารถเก๋งทั่วไปเพราะต้องบุกป่าฝ่าดงปีนขึ้นเขา เมื่อวัดจากระดับกึ่งกลางไฟหน้ากับพื้นถนนจะต้องไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร หากไฟหน้าสูงไม่เกินกำหนด แต่รถสูงโต่งมาก มีการดัดแปลงสภาพมาก ทั้งเสริม ทั้งยกตัวถัง การปรับแต่งรถยนต์แบบนี้จะต้องมีหนังสือรับรองจากวิศวกรรองรับ และต้องมีการแจ้งกับกรมการขนส่งทางบกว่าทำการดัดแปลงเพื่อใช้งานในเขตทุรกันดาร ซึ่งหากยกสูงไม่มากนัก ไม่เกินกำหนด โดยใส่ยางล้นออมาข้างตัวรถจนเกินบังโคลนล้อ ต้องใช้ดุลพินิจอีกเช่นกันว่ามีความเสี่ยงต่อผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ลงความเห็นว่าเป็นอันตรายก็มีความผิด
-
ใช้ไฟหน้ารถหลากสี
ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 หากติดไฟแล้วเข้าเครื่องทดสอบโคมไฟ ลำแสงจะต้องตกเป็นแนวระนาบไม่น้อยกว่า 2 องศา และต้องไม่เบนขวาถึงจะเรียกว่า ผ่าน ส่วนสีโคมไฟหน้า ทางกรมฯกำหนดเอาไว้ 2 สีด้วยกัน คือ สีเหลืองอ่อน และสีขาว ถ้าเป็นสีอื่นถือว่ามีความผิด และมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ไฟเบรกต้องเป็นสีแดง ไฟเลี้ยวต้องเป็นสีเหลืองอำพัน ไฟส่องป้ายทะเบียนต้องเป็นสีขาวมองเห็นป้ายทะเบียนได้ไม่น้อยกว่า 20 เมตร เป็นต้น
-
ท่อใหญ่เกินไป
สำหรับผู้ที่ชอบแต่งรถ ไม่ว่าจะใส่ท่อขนาด 3 นิ้ว หรือ 4 นิ้ว จะหม้อพักกี่ใบ ยังไงหม้อพักจะต้องปล่อยออกท้ายรถเท่านั้น ยกเว้นรถพ่วง กับรถโดยสารขนาดใหญ่ หากออกข้างตัวถังถือว่าผิดกฎหมายทันที โดยรถยนต์ที่อายุเกิน 7 ปีจะต้องนำรถเข้าตรวจสภาพ เพื่อตรวจวัดระดับเสียงปลายท่อไอเสีย ผลที่ได้จะต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ถ้าเกินก็มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
-
เปลี่ยนเบาะใส่เข็มขัดนิรภัยแบบรถแข่ง
หลายคนอาจไม่รู้ว่าข้อนี้ผิดกฎหมาย ที่นั่ง หรือเบาะ รถยนต์มีการระบุขนาดกว้างยาวเอาไว้ด้วย เกี่ยวข้องกับการระบุจำนวนผู้โดยสาร เบาะแต่งส่วนมากจะมีขนาดถูกต้อง แต่หากถอดเบาะออกหรือสั่งทำเบาะใหญ่พิเศษถือว่าผิดกฎหมาย ขณะที่เข็มขัดนิรภัยทางกรมขนส่งฯได้กำหนดมาตรฐานไว้ว่า เบาะที่ติดเข็มขัดนิรภัย 4 จุดถือว่าผิดมาตรฐาน หากยึดแน่นหนาปลอดภัยก็อนุโลมได้ ซึ่งถ้าใส่เข็มขัดนิรภัย 4 จุด 8 จุด แล้วไม่คาด ถือว่าไม่ผิดพระราชบัญญัติ แต่ผิดกฎหมายถูกจับเหมือนกัน